top of page

สถาปัตยกรรม หลังโควิด -19 I Architecture after COVID-19

Updated: Feb 21, 2023

ปลายปี 2562 จนถึงขณะนี้ เมษายน 2563 โลกของเราได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และไม่รู้ว่าจะอยู่กับมันไปอีกนานแค่ไหน COVID -19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนแทบทุกวงการ


การ Work from home, On line Education, การค้าขาย, การใช้พื้นที่สาธารณะ, การล็อคดาวน์ปิดเมือง , การทำ Social Distancing หรือนั่นคือความธรรมดาแบบใหม่ (New normal) ที่คนทั้งโลกจะต้องเผชิญต่อไปในอนาคต และแน่นอนในวงการออกแบบ โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้คนจำนวนมาก อาจต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งการออกแบบห้างสรรพสินค้า โรงเรียน หรือแม้แต่ที่พักอาศัย เราจะต้องหาวิธีออกแบบเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้มีประสิทธิภาพที่สุด


อย่างง่ายที่สุดสถาปนิกอาจต้องหยิบยืมองค์ความรู้จากสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์อาหาร ( Food Science) มาใช้ คือ หลักการออกแบบห้องสะอาด หรือ ห้องคลีนรูม (Clean Room) เช่น ห้องผ่าตัด ห้องทดลองเคมีและชีววิทยา นั่นเอง




หลักการที่เราสามารถนำมาประยุกต์ได้ เช่น

  1. การออกแบบทางเข้า ระบบพ่นไอฆ่าเชื้อ การทำความสะอาดรองเท้าหรือเปลี่ยนรองเท้าก่อนเข้าพื้นที่

  2. การลบเหลี่ยมมุมและซอกของห้องเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่าย ทำมุมห้องให้เป็นมุมป้านหรือโค้ง วัสดุปูผิวควรหลีกเลี่ยงวัสดุที่มีรอยต่อเยอะเช่น กระเบื้องโมเสค เป็นต้น

  3. การออกแบบก็อกน้ำให้สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส อาจมีฟุตสวิทช์ หรือระบบเซนเซอร์

  4. การออกแบบ สวิทช์ไฟให้ เปิด- ปิด ได้โดยไม่ต้องสัมผัส เช่น ใช้เสียงสั่งการ

  5. การออกแบบประตู ที่ไม่ใช้ลูกบิดหรือมือจับ อาจใช้หลังชนเข้าไป หรือ อาจใช้ประตูอัติโนมัติเหมือนร้านสะดวกซื้อ

  6. ระบบการระบายอากาศที่มีคุณภาพ สะอาด และปราศจากเชื้อโรค



สรุปแล้วเราควรออกแบบอุปกรณ์ต่างๆที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นประตู ราวจับบันได ก็อกน้ำ โดยอาจใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน คือ ระบบเซนเซอร์และการสั่งด้วยเสียง นอกจากนี้ ควรออกแบบอาคารมีพื้นผิวที่ไม่กักเชื้อโรคและทำความสะอาดได้ง่าย


การเลือกวัสดุ

จากบทความเรื่อง HOW ARCHITECTURE CAN DEFEND US FROM GERMS, BACTERIA, AND VIRUSES LIKE COVID-19 (สถาปัตยกรรมจะสามารถป้องกันเชื้อโรค แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส แบบ COVID -19 ได้อย่างไร) เขียนโดย Bea Spolidoro, AIA, WELL AP


อ้างถึง องค์กรอนามัยโลก (WHO) ที่ว่า โคโรน่าไวรัส สามารถมีชีวิตอยู่ในพื้นผิวสัมผัสได้ ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ลักษณะของพื้นผิว (TEXTURE) อุณหภูมิ ความชื้นของสภาพแวดล้อมนั้นๆ ดังนั้นคำแนะนำอันดับแรกคือ เราควรล้างมือด้วยน้ำผสมแอลกอฮอล์ หรือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับพื้นผิวภายนอกที่อยู่อาศัยเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส


สถาปนิกควรเลือกวัสดุที่ง่ายต่อการทำความสะอาด และไม่มีรูพรุน ควรหลีกเลี่ยงการปูผิวโต๊ะอาหาร

หรือครัวด้วยแกรนิตหรือหินธรรมชาติซึ่งมีพื้นผิวที่หยาบและมีรูพรุน เพราะมันเก็บความชื้น หมักหมมเศษอาหาร ทำให้เกิดสปอร์ของจุลชีพได้ง่ายในขณะที่วัสดุอย่าง โลหะ นั้นจะไม่มีรูพรุน และทำความสะอาดได้ง่ายกว่านอกจากนี้วัสดุที่มีรูพรุนมากๆ เช่น พรม ผ้า สิ่งทอ ผ้าม่าน ผ้าขนหนู เตียง จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดเป็นพิเศษโดยเฉพาะไรฝุ่นที่ส่งผลต่อคนที่เป็นโรคภูมิแพ้

วัสดุบางชนิดมีคุณสมบัติป้องกันจุลชีพได้ดี ตัวอย่างเช่น ทองแดงและวัสดุผสมทองแดง (ทองเหลือง บรอนซ์ ฯลฯ) องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา ( United State Environment Protection Agency ชื่อย่อ EPA ) ได้ให้การรับรองว่าวัสดุที่ทำจากทองแดง ได้แก่ ราวจับ อ่างล้างมือ ก็อกน้ำ มือจับประตู อุปกรณ์ห้องน้ำ เสาแขวนน้ำเกลือ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ในฟิตเนส อุปกรณ์ลิฟท์ เครื่องครัว และกระเบื้องผนัง เป็นต้น สามารถป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้


ในขณะที่ “เครื่องเงิน”ซึ่งป้องกันจุลชีพได้ดีเช่นกัน มีราคาแพงเกินกว่าที่จะนำมาทำเป็นวัสดุพื้นผิว แต่เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ด้วยการนำมาเคลือบผิวอุปกรณ์แทนด้วยกระบวนการนาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีการนำมาใช้แล้วใน แก้วน้ำ และพื้นผิวโลหะที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้และต่อต้านจุลชีพ



ระยะห่างทางสังคม กับ ที่ว่างที่เปลี่ยนไป

การเว้นระยะห่างทางสังคม ( Social Distancing ) หรือการเว้นระยะห่างทางกายภาพ ( Physical Distancing) เป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ประชากรโลกปฏิบัติตามเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส ด้วยการเว้นระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 1.5-2.0 เมตร หากมีความจำเป็นต้องเดินทางออกไปนอกเคหะสถาน การหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในฝูงชนจำนวนมาก ไม่รวมกลุ่มกันมากกว่า 3 คน


แน่นอนข้อปฏิบัติเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้พื้นที่ของมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านอาหารต้องงดการให้บริการที่ร้าน ไม่มีที่ให้นั่ง เน้นการส่งอาหารเป็นหลัก สำนักงานในเมืองใหญ่หลายเมืองต้องให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือ Work from Home ห้างสรรพสินค้าปิดให้บริการพื้นที่ส่วนใหญ่ เปิดได้เฉพาะพื้นที่ซุปเปอร์มาเก็ต สวนสาธารณะและสนามกีฬาปิดทำการชั่วคราว หรือบางประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนออกนอกบ้านตลอด 24 ชั่วโมง เหตุการณ์เหล่านี้บางอย่างอาจอยู่กับเราชั่วคราว แต่บางอย่างอาจอยู่กับเราตลอดไปก็ไม่อาจรู้ได้



หากสถานการณ์สงบลงเราอาจต้องทบทวนเกณฑ์การออกแบบบางอย่างหรือไม่

(1) ที่ว่างส่วนบุคคล ( Personal Space)

ที่เราเคยคำนวณด้วยอัตราส่วน 1 คนต่อพื้นที่ 0.81-1.00 ตารางเมตร

( 1 x1 เมตร ) อาจเปลี่ยนไปเป็น 4 ตารางเมตร ( 2x 2 เมตร) เพิ่มขึ้น 4 เท่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งส่งผลต่อขนาดพื้นที่ทางสถาปัตยกรรม และพื้นที่สาธารณะ


(2) การออกแบบพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่สำนักงาน

หากเราเริ่มปรับตัวเข้ากับการทำงานที่บ้านได้แล้ว พื้นที่สำนักงานอาจลดลงเหลือเพียงห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องเก็บเอกสาร และห้องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะที่พื้นที่บ้านจะถูกใช้งานมากขึ้นเพราะมีทั้งกิจกรรมการทำงาน การพักผ่อน และการออกกำลังกายอาจทำได้ยากในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบจะต้องออกแบบให้บ้านสมัยใหม่นั้นรองรับกิจกรรมเหล่านี้ได้ในพื้นที่จำกัด



(3) การออกแบบร้านค้าหรือร้านอาหาร

อาจมีจำนวนที่นั่งลดลง ขณะที่ใช้พื้นที่มากขึ้นเพื่อเว้นระยะห่างทางกายภาพ การออกแบบร้านให้มีระบบ รับอาหารจากรถยนต์ส่วนตัว

( Drive-Thru ) การออกแบบที่นั่งรออาหารสำหรับพนักงานรับส่งอาหารออนไลน์ ซึ่งควรออกแบบให้สะอาดถูกสุขลักษณะ ผู้เขียนคาดว่าในอนาคตนอกจากรสชาติอาหารแล้ว ความสะอาดถูกสุขอนามัย บรรจุภัณฑ์ของร้านอาหารและการคำนึงถึงความปลอดภัยจากโรคจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ในการเลือกซื้อ

(4) การออกแบบห้างสรรพสินค้า

ซึ่งเป็นที่รวมของคนจำนวนมาก อาจลดพื้นที่ขายและโชว์รูมลง เน้นไปที่การขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งก่อนเกิดการระบาดของของโรคก็เริ่มมีสัญญานให้เห็นบ้างแล้ว ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพมหานครปรับตัวโดยเน้นไปที่การเป็นพื้นที่นัดรับประทานอาหารมากกว่าการขายสินค้าไปแล้ว


กล่าวโดยสรุปคือ สถาปนิกที่จะทำการออกแบบอาคารหรือพื้นที่สาธารณะหลังเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้อาจต้องเจอกับความท้าทายใหม่ ทั้งเรื่องการจัดการด้านพื้นที่ใช้สอย ขนาดสัดส่วนของที่ว่างในอาคาร พฤติกรรมของผู้ใช้อาคารที่เปลี่ยนไป สุขลักษณะของอาคาร การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สะอาดและสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ ภาครัฐอาจมีการกำหนดกฎหมายหรือข้อปฏิบัติที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมให้อาคารมีความสะอาดและปลอดภัยกับประชาชนผู้ใช้อาคารในอนาคต


**หมายเหตุ : บทความนี้เป็นการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆ และทำการวิเคราะห์คาดการณ์ด้วยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งผู้อ่านอาจไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ได้



ที่มารูปภาพ


2,852 views0 comments
bottom of page